Archive

Monthly Archives: May 2009

ฝน มา

แดด ออก

ผู้คนจากไป

ช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

ฝนตก ลมแรงอยู่หลายวันทีเดียว

นั่นเป็นเรื่องของลมฟ้าอากาศ

หากว่าในเรื่องส่วนตัวของเราเอง

มีหลายเรื่องหลายราวผลัดเปลี่ยนเวียนเข้ามาในชีวิต

เหมือนลมฝนแรงๆ ที่ฟาดบนหลังคาจนสังกะสีปลิวหายไป

สังกะสีนั่น หล่นเข้ามาในโลกของเรา

และใต้สังกะสีนั่น ดันมีโลกอีกโลกซ่อนอยู่

มันทำให้โลกของเรามีมิติมากกว่าชั้นเดียวอย่างที่เคยเป็น

เพราะโลก ใต้สังกะสีนั่น มีอิทธิพลต่อโลกของเรา

โลกที่ว่านั่น เป็นโลกของการงาน และ โลกของผู้คนในเรื่องงาน

โลกที่มองดูแล้ว หนักหนา และมีแนวโน้มว่า จะเจอศึกหนักเอาการ

มันส่งผลกระทบต่อตัวเราอย่างแรง

โลกนั้น ทำให้เราต้องส่องกระจกดูตัวเอง

ต้องปรับตัวใหม่…

เพราะโลกใต้สังกะสี จะยังอยู่อย่างนั้น

จนกว่าเราจะมีแรงมากพอ

ที่จะยกเอาสังกะสีนั้นออกไป


ในเดือนเดียวกันนี่เอง

มีหลายวันที่แสงแดดร้อนแรง

ดวงตาเบื้องหลังกรอบแว่น

ต้องหรี่ตา บีบให้รูรับแสงมันแคบลง

เพื่อให้มองเห็นอะไรๆ ชัดขึ้น

โลกใต้สังกะสี แสนทรงอิทธิพล

มีสิ่งมีชีวิตบางอย่าง

เดินออกมาจากใต้สังกะสี

และนั่นเอง ทำให้เราจำใจ ต้องผลักไส เด็กหญิงผมชี้ๆ คนหนึ่ง ให้ออกไปจากชีวิต

ทั้งที่ไม่ชอบสิ่งมีชีวิตบางอย่างนั่น

ทั้งที่อยากให้เด็กหญิงยังร่าเริงอยู่ในโลกใบเดิม

รวมทั้งไม่อยากทำอะไรทั้งนั้น


แต่ในโลกหลายมิตินั่น

วัยวุฒิ กับ คุณวุฒิ จะต้องเดินไปพร้อมๆ กัน

หากใครก็ตามที่ก้าวเข้ามาในโลกของเรา

อยากจะก้าวเดินจากไป

เราก็ไม่รั้ง

แต่ว่า เด็กหญิง ล่ะ

เธอจากไปจริงๆ เหรอ

เปล่าเลย

ตอนนี้ เราทำได้ดีที่สุดคือ

ซ่อนเด็กหญิงคนนั้นเอาไว้ ในอีกมิติหนึ่ง

ซึ่งอยู่ในโลกใบเดียวกับเรา

เพื่อรอให้เด็กหญิงออกมา

วิ่งเล่นน้ำฝน หรือ ตากแดดร้อนเปรี้ยง อย่างที่เคย

โดยไม่มีโลกอื่น อย่างเช่น โลกใต้สังกะสี เข้ามาปะปน

พักผ่อนเสียก่อน

หยุดเล่นสักพักนะ

เด็กหญิงคนนั้น

คนที่อยากเป็นช่าง…และเล่นอย่างจริงจัง

เราจะรอ วันใหม่

ที่เป็นวันของเด็กหญิงคนเดิม

“สิ่งที่ร้องขอ
กลับไม่เคยได้
แต่เห็นเธอทำ
ให้คนอื่นมากมาย”

เป็นอย่างนี้ ฉันควรทำยังไง

ฉันควรทำยังไง ถ้าฝนตก…

ฝนตกทำไม

ทำไมฝนตก

ฝนตกเพื่ออะไร

ฝนตกไปทำไม

แล้วเธอล่ะ ทำไปเพื่ออะไรกัน

สมัยก่อนโน้น…

กินข้าวต้อง ‘เปิบ’

ไม่รู้จะอธิบายวิธีการนี้ได้ยังไง

ไปดูในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตฯ ว่าไว้…

เปิบ, เปิบข้าว

ก. ใช้ปลายนิ้วขยุ้มข้าวใส่ปากตนเอง.

http://rirs3.royin.go.th/dictionary.asp

นั่นล่ะ อาการเปิบ

….

จนกระทั่งในยุคสมัยหนึ่ง

วัฒนธรรมการกินอาหารด้วย ‘ตะเกียบ’ ได้แพร่หลายจากบ้านเมืองต้นกำเนิดในภูมิภาคเอเชียตะวันออก มาสู่ดินแดนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมกับการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้านั่นเอง

และในกาลต่อมา

วัฒนธรรมการกินอาหารด้วยเครื่องใช้ ‘ช้อนส้อม’ จากประเทศทางตะวันตก ก็เข้ามาสู่สังคมแผ่นดินทองผืนนี้

แต่ดูเหมือนว่า การใช้ตะเกียบจะไม่เป็นที่นิยมเท่าใช้ ช้อนส้อม

ในปี พ.ศ. นี้

คงไม่มีใครนิยม การ ‘เปิบ’ ข้าวด้วยมือ กันแล้ว

กินข้าวก็ใช้ ช้อนส้อม

กินก๋วยเตี๋ยวก็จับ ตะเกียบ

และยังมีเครื่องใช้อื่นๆ เช่น มีดหั่นสเต็กและช้อนตักซุป เป็นต้น

แต่ว่านะ ถ้ากินข้าวอยู่กับบ้าน

แล้วมื้อนั้น มีปลาทู ล่ะก็

ข้าวสวยร้อนๆ คลุกปลาทู

มือเปิบเท่านั้น จะได้รสเอร็ดอร่อยจริงเชียว

หลายปีมานี้

กินข้าวนอกบ้าน

ร้านอาหารตามสั่ง

เมื่อจานอาหารมาถึงโต๊ะ ช้อนส้อม คู่ที่ได้

มีค่าเฉลี่ยที่เป็น ‘คู่’ กัน น้อยกว่า ‘คี่’ มากเหลือเกิน

หลายวันก่อน

อาถรรพ์ คู่คี่ ของเรา ก็สำแดงฤทธิ์เดชอีกเช่นเคย

ในร้านราเมงบนห้างแห่งหนึ่ง

“ช่วยหยิบตะเกียบให้หน่อยสิ”

คุณพี่ใจดีหยิบ ‘ตะเกียบไม้ในซองพลาสติก’ ส่งให้เรากับเพื่อน

ตะเกียบ ย่อมมาเป็น คู่

สงสัยกันไหมว่ามันจะ คู่คี่ ได้อย่างไร

ตะเกียบไม้ในซองพลาสติก ของเพื่อน

มันปกติดี

แต่


ตะเกียบไม้ในซองพลาสติกของเรา

มันยาว ไม่เท่ากัน

คู่ คี่ (จริงๆ)

..

ปล.

1. อยากจะโทษคนที่หยิบตะเกียบส่งให้ เพราะจะว่าไปแล้ว… คนที่ส่งตะเกียบคู่นั้นมาให้ก็ …  หุ   หุ   หุ

แต่ก็นะ…. เหอะ ๆ ๆ ๆ

2. ศึกษา วัฒนธรรมตะเกียบ เพิ่มเติมได้ที่นี่     http://www.lib.ru.ac.th/journal/chopstriks.html

เมื่อคืนฝนตก

นอนหลับสบายดี

เช้านี้

ฝนตกจั้กๆ

บ่ายคล้อย

เมฆฝนมาแล้ว

ตอนนี้

ฝนจะตกอีกแล้ว

แปลกดี

ได้กลิ่นทะเล

อยากไปทะเลจัง

แต่ว่า…

ทะเลหน้าฝนนะ

เหมาะกับคนแบบไหนกัน

จะเหมาะกับคนอย่างเราหรือ?

สวัสดี คุณผู้อ่านที่รัก

ช่วงนี้อากาศแปรปรวนเหลือหลาย

เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวฝน ปนลมกระโชกแร้งแรง (เหมือนที่ นักเพลินทาง บอก)

สงสัยว่า อาจเพราะประเทศเราย่างเข้าสู่ฤดูทำนากันแล้ว

อย่างไรก็ขอให้ดูแลสุขภาพกายกันให้มากๆ และอย่าลืมดูแลสุขภาพใจกันด้วยนะจ๊ะ

โดยเฉพาะคนใกล้ตัว

อย่าได้ปล่อยให้ มือที่สาม มือที่สี่ เข้ามาดูแลแทนเราเลยนะคะ (เดี๋ยวจะหาว่า “อึ้มไม่เตือนนะจ๊ะๆ” )

นี่ก็เพิ่งผ่านพ้นวันสำคัญของเกษตรกรกันมา นั่นคือวันพืชมงคล

ปีนี้

“พระโคกินงา พยากรณ์ว่า ธัญญาหาร ผลาหาร จะบริบูรณ์ดี

และพระโคกินหญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร
ภักษาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี”

( ข้อมูลจากhttp://www.ch7.com/news/news_thailand_detail.aspx?c=2&p=6&d=25784 )

วันนี้มีหนังสือแบบ e-book มาให้ท่านๆ ได้อ่านกันนะคะ

“หวังว่าจะชอบใจ”

เพราะเรื่องหนึ่งใน e-book เล่มนี้ เป็นเรื่องราวจากปลายนิ้ว…ของ “นักเขียนคนโปรด” ที่หลายคนชื่นชอบ

ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณ น้องบอย (วิษณ์ แทนบุญ ผู้เขียน – แอฟริกา ใต้โต๊ะ) น้องแน็ค และ เว็บไซต์ http://www.lensociety.com/th

เชิญทัศนา… เรื่องสั้นวันโลกยิ้มแฉ่ง (โปรดคลิก)

หากว่า โหลดไปอ่านกันแล้ว มีข้อคิดเห็นอย่างไร

เรียนเชิญ บอกเล่ากันไว้ ณ ที่นี้

อึ้มแปด จะได้นำไปบอกแก่ทางทีมงานได้นะคะๆ

ขอบคุณย์ earth smile

สวัสดี