Archive

เนื้อ หา สาระ

ผ่านมาแล้วเกือบเดือน
ได้เวลาวกกลับมาหา เรื่องที่อยากจะเล่า

หากจะให้มาบอกเล่าเรื่องความรู้ ในแง่เศรษฐศาสตร์มหภาค จุลภาค จะดีมานด์ หรือซัพพลาย จะการตลาด ธุรกิจ หรืออะไรก็แล้วแต่
ออกจะพูดไม่ได้เต็มปากนัก
เนื่องจากความรู้ในกบาล ไม่ได้พกทฤษฎีเหล่านั้นไว้เลยแม้สักน้อยนิด

เมื่อเดือนก่อน
ได้เสวนาออนไลน์ กับ บก. บห. สำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง
มีประโยคนี้กระเด็นกระดอนออกมาจากความคิดของฝั่งโน้น

“น่าเศร้าใจ…
คืองานของนักเขียนหลายคน เขียนออกมาได้ดี..แต่ขายไม่ได้
ในขณะที่งานอะไรก็ไม่รู้..กลับติดเบสท์เซลเลอร์”

และ

“เดี๋ยวรวยเมื่อไร … จะเปิดสนพ.อีกอันนึงรับงานคุณภาพล้วนๆ ไม่สนใจเรื่องธุรกิจ”

ด้วยความที่เป็นคนชอบ สาระ (แ น   ะ)
ก็เลยบอกท่าน บก. ไปว่า
“แต่จริงๆ …เห็น สนพ หลายๆ ที่เค้าก็ ผลิตงานคุณภาพนะ ได้ทั้ง ตังค์และกล่อง
มันมีได้ โดยไม่ต้องรอน้าาา”

“อย่างนั้นก็เยี่ยมเลย
…ต้องการแบบนั้นเช่นกัน… ได้เงิน+คุณภาพ”

ตอบท่าน บก. ไปอีกว่า
“ซักวันก็จะเจอเองล่ะคะ
เพราะมี … คอยหาให้ ฮ่าๆ
ชอบนักแล การควานหาช้างเผือกในป่าเนี่ย”

ไม่รู้เหมือนกันว่า บก. อยากแอบด่าอยู่ในใจหรืออย่างไร
เพราะตอบกลับมาว่า
“สุดยอดเลยจ้ะ”

เออนะ ก็ไม่แน่ใจว่า สุดยอดในด้านบวกหรือลบ
เพราะมันก็ดูจะสุดทางทั้งสองอย่างเลยทีเดียว

ในคืนหนึ่ง โชคดีเข้าข้างอย่างกะทันหัน
เป็นคืนที่นอนไม่หลับ
ในเวลาห้าทุ่มเป๊ะ
เปิดโทรทัศน์เปลี่ยนช่องไปมา
ไปเจอเข้ากับ ชีพจรโลก
คุณสุทธิชัยและคุณวีณารัตน์ เอาเรื่องราวมาเล่าอย่างสนุกสนาน
พูดเรื่องของ
ธุรกิจเพื่อสังคม หรือ ที่ภาษาฝรั่งเขาเรียกกันว่า Social Business Enterprise

ด้วยความที่สมองน้อยเกินไป
และกำลังจะเริ่มไม่เข้าใจแล้วว่า ธุรกิจเพื่อสังคม มันเป็นยังไง
คุณนักข่าวทั้งสองก็พูดถึง
มิสเตอร์ ยูนูส ชาวอินเดีย ที่ได้รับรางวัลโนเบล
จากการจัดตั้งธนาคารและให้คนท้องถิ่นสามารถกู้เงินจำนวนน้อยน้อยได้ แม้ไม่มีหลักทรัพย์มาค้ำประกันก็ตาม (ถ้าจำไม่ผิดนะ)
และคุณนักข่าวทั้งสอง ก็ยังยกตัวอย่าง ธุรกิจอีกหลายหลายอย่าง ที่เข้าข่ายธุรกิจเพื่อสังคม หรือ เจ้า S B E นี่ล่ะ

จากที่ดู แล้วก็สรุปได้ความว่า
ธุรกิจเพื่อสังคม ไม่ว่าองค์กรใดก็ตาม
ก่อตั้งขึ้นมาจากความต้องการแก้ไขปัญหาที่อยากจะแก้ หรือ อาจจะเรียกได้ว่าเป็นปัญหาที่อยู่ใกล้ตัวองค์กรนั้นมากที่สุด

อย่างเช่น ในรายการชีพจรโลกก็พูดถึง สมาคมคุณมีชัย (ชื่อจริงว่าอะไร-ยาวแสนยาวจำไม่ได้เสียแล้ว)
ได้ก่อตั้งร้านอาหารคอนดอมฯ (อะไรสักอย่าง ไม่ได้จำ-อีกแล้ว)
เมื่อขายแล้วได้กำไร ก็นำเงินกำไรจัดสรรปันส่วนออกเป็น ส่วนเงินทุน และส่วนที่จะนำไปใช้แก้ไขปัญหา (น่าจะมีอีกส่วน แต่จำไม่ได้-อีกแล้วครับท่าน) ก็นำเงินส่วนนั้นมอบให้สมาคมคุณมีชัย เพื่อนำไปใช้สอยในสิ่งที่มองแล้วว่า เป็นปัญหาที่ควรแก้ไข

และอีกตัวอย่างที่เห็นกันจะจะในแดนสยาม ณ วันนี้ คือ Be Magazine
ที่ผู้ก่อตั้ง ได้แรงบันดาลใจมาจาก Big Issue ในประเทศอังกฤษ
เพราะ Big Issue ได้จัดให้คนเร่ร่อนเป็นผู้ขายนิตยสารนี้
เพื่อแก้ปัญหาสังคม โดยการให้อาชีพแก่คนเหล่านี้
ถือเป็นการลดภาระทางสังคมไปหนึ่งอย่าง
เพราะอย่างน้อย เมื่อคนเหล่านี้ มีอาชีพ มีรายได้ ก็ไม่ก่อเหตุลักโขมย หรือเหตุต่างต่างที่นำไปสู่อาชญากรรม

Be Magazine นำความคิดดีดีจากตัวอย่างของ Big Issue นี้
มาปรับใช้ให้เข้ากับกลไกตลาดของบ้านเมืองสยามเรา
โดยยังคงมี Be Magazine ส่งไปขายกับ Distributor คือ ผู้จัดจำหน่าย หรือที่เรียกกันในภาษาบ้านบ้านว่า สายส่ง
(ต่อไปจะเรียก
Be Magazine ว่า บีฯ)
เพื่อให้ บีฯ ได้เข้าร้านหนังสือชั้นนำและอยู่บนชั้นของห้างต่างต่าง
แต่ที่เข้าข่าย S B E จัดจัดเลย น่าจะคือการประชาสัมพันธ์ไว้ในนิตยสาร (ปก Modern Dog) ว่า
จัดทำขึ้นเพื่อ “ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ด้อยโอกาส”
หากคุณเป็นคนว่างงาน เป็นนักเรียน หรืออยากหารายได้เสริมให้ติดต่อที่ Be Magazine
ถ้าจำไม่ผิดนะ บีฯ จะยกหนังสือ 30 เล่มแรกให้ฟรีฟรี พร้อมผ้ากันเปื้อนที่มีโลโก้ บีฯ
คุณสามารถเอาไปยืนขายตามสถานที่ต่างต่างที่อยากยืน
หรือสำหรับคนที่มีเงินเหลือกินเหลือใช้
หากอยากจะทำบุญด้วยการจ่ายค่าสมาชิกฯ รายปีกับ บีฯ
เงินส่วนหนึ่่งจะถูกหักจากค่าสมาชิก เอาไปสมทบให้กับมูลนิธิต่างต่างที่แจ้งไว้ใน บีฯ
ซึ่งสมาชิกสามารถระบุไว้ว่า ต้องการบริจาคเงินส่วนนั้นให้กับมูลนิธิใด
หรือไม่ระบุ ทาง บีฯ ก็จะเลือกให้เองตามความเหมาะสม
คนทำ “ได้ทั้งธุรกิจและได้บุญด้วยนะเออ” (อาฮะ พี่แขกบอกไว้)
นั่นสิ ผู้บริโภคอย่างเราก็ได้ทั้งของและบุญ
เขาว่ากันว่า ทางการตลาดถือว่า วินวินทุกฝ่ายเลยจริงเชียว

ตอนที่ บีฯ ออกวางตลาดช่วงแรกแรก
รู้จัก บีฯ ด้วยสนนราคาน่าซื้อหา และ เป็นมิตรอย่างยิ่งกับกระเป๋าเงิน
จึงไม่เสียดายเลย เมื่อต้องควักเงินจ่ายออกไปในราคา 25 บาท

จนวันหนึ่ง เดินไปเจอน้องผู้ชายสวมแว่นตาหน้าเนิร์ดเนิร์ด
เขายืนหน้าเซ็งเซ็ง ใกล้กับบันไดทางขึ้น บีทีเอส สยาม
“….” น้องเขาพูดอะไรสักอย่าง
แต่เราก็เดินเลยไปแล้วกว่า สาม-สี่เมตร
ก็ย้อนกลับไป เพราะนึกได้ว่า น้องคงอยากขายของ
“มีเล่มอื่นมั้ยคะ ที่ไม่ใช่พี่เสก”
“มีครับ” น้องหยิบหนังสือที่ซ่อนไว้ (ในผ้ากันเปื้อน) ออกมาให้ดู
“เค้าปรับราคาแล้วเหรอคะ”
“ครับ….” น้องอธิบาย แต่ก็จำไม่ได้แล้วล่ะ
“โอเค เล่มนี้ก็ได้ค่ะ” สรุปว่า เราเลือกปกพี่ป๊อด ในราคา 45 บาท
“พี่รอเดี๋ยวนะครับ ผมไม่มีทอน” อาฮะ สงสัยจะขายพี่เป็นรายแรก แบ็งค์ร้อย น้องไม่มีตังค์ทอน
ห่างออกไป สี่-ห้าเมตร น้องเนิร์ดพยายามขอแลกเงินกับแม่ค้าแถวนั้น แต่ก็หมดหนทาง
น้องเดินคอตกกลับมา พร้อมเอาแบ็งค์เดิมคืนให้
“…”
“งั้น น้องเก็บหนังสือไว้ให้พี่ก่อนนะ เดี๋ยวพี่มาเอา”
น้องหน้าเนิร์ดคงนึกว่าพี่จะหายไปเลย
เพราะกว่าพี่จะเดินกลับไปก็เกือบสิบนาทีได้
“เออ พี่เคยเห็นอีกคนนึงมายืนขาย ที่ดูมีอายุกว่าเราน่ะ”
“ครับ พี่คนนั้นเค้าขายอีกเวลานึงครับ ผมเลยต้องมาขายตอนนี้”
ดูเหมือนว่า อีกช่วงเวลาที่พูดถึงนั่นน่าจะขายดีกว่าเวลาของน้องเนิร์ด
เรา ยังพูดคุยกันอีกหลายคำและลงท้ายด้วย
“ขอให้ขายหมดนะน้องนะ”
นั่นไงล่ะ ได้ทั้งของและบุญในคราวเดียว

อันนี้ละมั้ง S B E หรือ Social Business Enterprise
สามารถตอบโจทย์ในประโยคที่ยังค้างคาอยู่ในหัว (ใจ)
“เดี๋ยวรวยเมื่อไร … จะเปิดสนพ.อีกอันนึงรับงานคุณภาพล้วนๆ ไม่สนใจเรื่องธุรกิจ”

ถ้าเราคิดหาหนทางแบบ S B E ได้
เป็นการค้า ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือผู้อื่น
เพื่อให้สังคมของเราน่าอยู่ขึ้น
เราอาจไม่ต้องรอ พรุ่งนี้รวย แล้วก็ได้นะคะ ท่าน บก. ^^

ด้วยรักจากใจป้าค่ะ